top of page

สร้าง Natural Connect ด้วยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
คืนความสมดุลในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ในช่วงการระบาดของโรค Covid-19 ที่ผ่านมา ภาพของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ได้โอกาสฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาสมบูรณ์และสวยงามอีกครั้ง แทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่ล็อคสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ไว้ในเขตเมือง ภายในเวลาไม่กี่เดือน น้ำทะเลก็กลับมาใส ป่าไม้กลับมาเขียวขจี รวมถึงบรรดาสัตว์หายากต่าง ๆ ก็ออกมาปรากฏตัวราวกับจะส่งสารว่าพื้นที่ตรงนี้ที่มนุษย์ล่วงล้ำช่วงชิงไป ใครคือผู้ที่เคยอยู่อาศัยมาก่อนแล้วเมื่อนานแสนนาน


เราสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปเท่าไหร่แล้ว...

หากลองสังเกตสถิติเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าตัวเลขในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ตัวเลขพื้นที่ป่าอยู่ที่ 102,484,072 ไร่ หรือเท่ากับร้อยละ 31.68 ก็ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผืนป่าคือปัจจัยสำคัญในการปกป้องเราจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน


ขณะเดียวกัน เราจะเห็นสถิติอื่น ๆ ที่ค่อนข้างสอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 3 – 4 องศาเซลเซียสในทุก ๆ ปี เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศ ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือ 250 มิลลิเมตรในปี พ.ศ. 2561 ทั้งหมดนี้ ยังสัมพันธ์กับสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงไม่ต่างกัน ดูเหมือนว่าความร้อนแล้งที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นความพยายามของมนุษย์ในการออกแบบและจัดการทรัพยากรให้สมดุลและเหมาะสม ตัวอย่างเช่นการให้มี “อุทยานแห่งชาติ” เพื่อคุ้มครองและรักษาป่าไม้ ชายฝั่ง สัตว์ป่า รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ และสภาพแวดล้อมทั้งมวลในพื้นที่นั้น ไม่ให้ถูกรบกวนหรือทำลาย หรือการจัดการทรัพยากรน้ำผ่านระบบชลประทานและการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ


“เขื่อนรัชชประภา” กับเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สำหรับภาคใต้ของประเทศไทย เขื่อนที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้น “เขื่อนเชี่ยวหลาน” หรือที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามให้ว่า “เขื่อนรัชชประภา” ซึ่งหมายถึง แสงสว่างแห่งรัชกาล นั่นเป็นเพราะการใช้ประโยชน์ของเขื่อนเอนกประสงค์แห่งนี้ ครอบคลุมทั้งในด้านการทำประมง การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การสนับสนุนชลประทานเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ตลอดจนการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้ว่าราคาที่มนุษย์ต้องยอมจ่ายส่วนหนึ่ง จะเป็นความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในช่วงต้นของการสร้างเขื่อนก็ตาม


ที่สำคัญ เขื่อนรัชชประภายังช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่คนในท้องถิ่นด้วยการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยที่ตั้งของเขื่อนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก พื้นที่ป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างพันธุ์ไม้หายากและพืชเฉพาะถิ่น รวมถึงสัตว์ป่านานาชนิดมากกว่า 400 สายพันธุ์ ภูมิทัศน์อันน่าทึ่งล้วนได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำ น้ำตก หมู่เขาหินปูนน้อยใหญ่ที่เรียงรายเหนือเขื่อน ตัดกับทะเลสาบสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทั้งหมดนี้ล้วนดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสทัศนียภาพแปลกตาท่ามกลางความสงบงดงามของธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ได้ตลอดทั้งปี

เป้าหมายของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในเขื่อนรัชชประภา ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือคนท้องถิ่นที่รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติบ้านเกิด จึงเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างแท้จริงให้กับผู้มาเยือน รวมถึงส่งต่อแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกเขาคือกลุ่มคนที่รับรู้ปัญหาและเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในพื้นที่มาตลอด เช่นปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่า หรือปัญหาปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภาที่ลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี จาก 4,616 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี พ.ศ. 2553 เหลือ 3,583 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี พ.ศ. 2563


เหล่าผู้ประกอบการจึงพยายามส่งเสริมให้เกิดรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน โดยคาดหวังว่าการได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้บทบาทของมนุษย์ในสมการการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ไม่ใช่ผู้คุกคามหรือทำลาย แต่เป็นผู้ที่พึ่งพิงอาศัยประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างสมดุล


เมื่อธุรกิจต้องเติบโตไปพร้อมกับความยั่งยืนของธรรมชาติ

“พันวารีย์ เดอะกรีนเนอรี่” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิดที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ แพที่พักกลางน้ำแห่งนี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่เขื่อนรัชชประภายังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยว กระทั่งผืนน้ำสีเขียวที่โอบล้อมรอบทิศด้วยขุนเขากลายมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทาง ทำให้เกิดการขยายรีสอร์ทให้ได้มาตรฐานตามระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี พ.ศ. 2559 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มปริมาณขึ้น โดยยึดหลักที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร นอกจากจะเชี่ยวชาญการนำเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนเกือบทั้งหมดแล้ว ยังออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรมแปลกใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนชุมชน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการมอบประสบการณ์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติอันบริสุทธิ์แบบเจาะลึก เพื่อเปลี่ยนนักท่องเที่ยวธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์แห่งความยั่งยืนไปด้วยกัน


ไอเดียการฝากแนวคิดอนุรักษ์ไว้ในหัวใจนักท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเป็นหนทางหนึ่งที่จะพาผู้คนไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ไปเข้าใจความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ ไปเห็นว่าธรรมชาติคือขุมทรัพยากรสำคัญที่เราต้องส่งต่อไปยังลูกหลาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกวัยตั้งแต่เด็ก ๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่ ได้ตระหนักว่าเรามีบทบาทที่จะช่วยปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติได้ ผ่านโปรแกรมท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ออกแบบมาแล้วอย่างตั้งใจ


ล่องเรือกลางน้ำ ให้ธรรมชาติเยียวยาหัวใจ

ล่องเรือลำเล็กเข้าสู่ใจกลางความมหัศจรรย์ของเวิ้งน้ำสีสวย ที่เมื่อสะท้อนรับกับแสงอาทิตย์แล้ว จะเกิดเฉดสีเขียวใสสว่างไม่เหมือนที่ไหน


เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ทักทายเพื่อนสัตว์ตัวจิ๋ว

เหนือขึ้นไปจากอุทยานแห่งชาติเขาสก คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง บริเวณทะเลใน 500 ไร่ เป็นทะเลสาบปิดที่โอบล้อมด้วยหมู่เขาหินปูน 360 องศา ท้าทายให้เหล่านักเดินทางต้องออกเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติผ่านผืนป่าเขียวชอุ่มประมาณ 1.5 กิโลเมตร และยังมีโอกาสได้ทักทายสัตว์ป่าตัวเล็ก ๆ อย่างเช่นค่างหรือชะนี ได้แบบใกล้ชิดเลยทีเดียว


ล่องแพไม้ไผ่ สู่ใจกลางทะเลสาบสีเขียว

แพไม้ไผ่ที่พาทุกคนล่องข้ามทะเลสาบสีเขียวใสนิ่งสงบ ราวกับเป็นช่วงเวลาต้องมนต์ความบริสุทธิ์งดงามของธรรมชาติ ได้สูดอากาศและซึมซับพลังจากทัศนียภาพรอบด้านอย่างเต็มที่


สำรวจถ้ำปะการัง ย้อนเวลาสู่ยุคดึกดำบรรพ์

อีกฟากฝั่งของทะเลใน 500 ไร่ คือ ถ้ำปะการังอายุหลายล้านปี ภายในเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยรูปทรงแปลกตาราวกับอยู่ใต้ทะเลลึก


ลอยกระทงแทนคำขอบคุณผู้สละชีวิตเพื่อสร้างเขื่อน

ปิดท้ายด้วยโปรแกรมยามค่ำ ล่องเรือออกไปยังหน้าศาล “พ่อตาโจงโดง” เพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในพื้นที่เคารพและศรัทธา พร้อมกับลอยกระทงใบน้อยไปกับสายน้ำ แทนความขอบคุณและคำสัญญาที่จะพิทักษ์รักษาผืนป่าต่อไป


Natural Connect เชื่อมคนกับป่าเป็นหนึ่งเดียว

พันวารีย์ เดอะกรีนเนอรี่ ยังยกระดับโปรแกรม Natural Connect ที่ออกแบบมาเพื่อคนรักธรรมชาติโดยเฉพาะ เปิดโอกาสให้เหล่านักเดินทางได้ท่องผืนป่า ตามหาพืชเฉพาะถิ่น และใกล้ชิดกับสัตว์ป่าหายาก ณ ใจกลางระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พิเศษยิ่งกว่าด้วยเรื่องเล่าจากผู้พิทักษ์ป่าแห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง รวมถึงแรงบันดาลใจจากตำนาน “สืบ นาคะเสถียร” และภาพถ่ายหายากในอดีตก่อนการสร้างเขื่อน นี่จึงเป็นทริป 3 วัน 2 คืนที่เต็มอิ่มไปด้วยสาระความรู้ และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้อย่างแท้จริง

นอกจากโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีให้เลือกหลากหลายแล้ว แพที่พักของพันวารีย์ เดอะกรีนเนอรี่เอง ก็ยังแฝงแนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเคารพธรรมชาติในทุก ๆ รายละเอียด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของอุทยานฯ ด้วยการควบคุมจัดการของเสียต่าง ๆ ที่อาจถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด การรักษาบรรยากาศเงียบสงบเพื่อไม่ให้รบกวนสัตว์ป่าที่เป็นเหมือนเพื่อนบ้าน การลด ละ เลิกใช้พลาสติก โดยเตรียมถุงผ้าไว้ให้ลูกค้าทุกคนใช้แทนถุงพลาสติกตั้งแต่ก่อนลงเรือเข้ามาในเขตอุทยานฯ และเตรียมขวดแก้ว รวมถึงภาชนะใช้ซ้ำได้ แทนขวดหรือภาชนะพลาสติกต่าง ๆ ด้วย


ทั้งหมดนี้ คือความพยายามส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรอบเขื่อนรัชชประภา รวมถึงในอีกหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศ ที่ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ในสมการความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้น มนุษย์สามารถเลือกที่จะเป็นผู้ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ด้วยหัวใจที่ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ และเชื่อในหนทางการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพิงและยั่งยืน

Gallery

bottom of page